การเป็นหัวหน้างานที่ดีในยุค New Normal
การเป็นหัวหน้างานที่ดี ควรเข้าใจบทบาทของตนเองให้ถ่องแท้ก่อน เพื่อเราจะทำงานได้มีประสิทธิภาพ ตรงตามที่องค์กรต้องการ การพัฒนาบทบาท Up Skill มีคุณสมบัติเบื้องต้นมาฝากกัน คนเป็น “หัวหน้างาน” (Supervisor) คือผู้บริหารระดับต้นแล้วแต่โครงการองค์กรแต่ละบริษัทอาจไม่เหมือนกัน เช่น โฟร์แมน (Foreman) หัวหน้ากะ หัวหน้าทีม หัวหน้ากลุ่ม หัวหน้าส่วนงาน หรือจะเป็นหัวหน้าแผนก แต่อย่างไรก็แล้วแต่ จุดเด่นของคำว่าหัวหน้า คือ ผู้มีหน้าที่ดูแลในการเอาใจใส่พนักงานระดับปฏิบัติการ (Operational Staff) มีความใกล้ชิดมากที่สุด เพื่อให้พนักงานได้ปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมาย เกิดแรงจูงใจ และมีขวัญกำลังใจทำงานร่วมกับองค์กร
นอกจากหัวหน้างานต้องทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว หัวหน้างานยังเป็นผู้ที่รับนโยบายหรือคำสั่งจากฝ่ายบริหารมาปฏิบัติและถ่ายทอดให้ผู้ใต้บังคับบัญชา นำมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการนำนโยบาย ทิศทาง เป้าหมายขององค์กรและของผู้บริหารมาถ่ายทอด โดยผ่านบทบาทการเป็นผู้นำของทีม หรือเราเรียกว่า หัวหน้างาน จึงได้นำสิ่งที่ควรเป็นคุณลักษณะของหัวหน้างานในบทบาทของตนเองจะได้มีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปปรับใช้ได้ในการนำพาความสำเร็จในความเป็นหัวหน้าของเรา
- เข้าใจการรักษาคุณภาพของงานไม่ว่าจะเป็นด้านใดขึ้นอยู่กับว่าเรารับผิดชอบส่วนงานใด
หัวหน้างานมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงต่อการรักษาคุณภาพของงาน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของผลติภัณฑ์หรือบริการที่ได้สัญญาว่าจะส่งมอบสิ่งที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า เพราะในมุมมองลูกค้าจะมีความรู้สึกที่ประทับใจและเชื่อมั่นในองค์กร หัวหน้างานต้องพึงตระหนักว่า ลูกค้าเป็นผู้กำหนดความหมายของคำว่า “คุณภาพ” ปัจจุบันลูกค้ามีโอกาสเลือกสรรได้มากขึ้น เขาต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง หัวหน้างานจึงต้องเข้าใจและพร้อมกับการปรับตัวตามการตลาดหรือฝ่ายขายเช่นกัน
2. มีการคิด พัฒนา ปรับกระบวนการอย่างต่อเนื่องอย่างสร้างสรรค์เพื่อช่วยกันลดต้นทุนขององค์กร
ความแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตหรือการให้บริการ เป็นปัจจัยหนึ่งที่องค์กรพยายามจะบริหารให้ต้นทุนน้อยลงแต่คุณภาพยังคงดีเหมือนเดิม หัวหน้างานจึงมีบทบาทในการควบคุมต้นทุนของกระบวนการปฏิบัติงาน มีหลายองค์กรที่ยอดขายได้ตามเป้าหมายแต่กำไรไม่เป็นตามเป้าหมาย เพราะการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หรือมีความเสียหายระหว่างการผลิต บทบาทหัวหน้างานต้องเข้าใจ “ลดต้นทุน แต่ไม่ลดคุณภาพ”
3. มีแนวคิดการส่งต่องานให้ส่วนงานอื่น ๆ อย่างถูกต้อง เหมือนกับลูกค้าภายนอกเพื่อให้งานมีคุณภาพ เพราะงานในองค์กรมีผลกับสินค้าและบริการกับลูกค้าภายนอก
การส่งมอบงานให้ตรงเวลาถือเป็นเรื่องสำคัญต่อลูกค้าภายใน และลูกค้าภายนอก ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้างาน เพราะการเสียเวลา ณ จุดหนึ่ง จุดใดย่อมมีผลกับการที่ลูกค้า รอคอย เราต้องเข้าใจก่อนว่า การที่ลูกค้าเสียเงินให้เรา เขาย่อมคาดหวังในสิ่งที่ดีเช่นกัน หากลูกค้าเราเสียความรู้สึก เขาพร้อมเสมอที่จะเปลี่ยนผู้ให้บริการทันที
4. การเข้าใจและตระหนักความปลอดภัยในการปฏิบัติงานของทุกคนในส่วนงาน
ความปลอดภัยในการทำงาน มิได้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว การที่เราเป็นหัวหน้างาน เราต้องเอาใจใส่ความปลอดภัยของตนเองและพนักงาน หาแนวทางป้องกันเพื่อลดอุบัติเหตุร่วมกับส่วนงานความปลอดภัย หัวหน้างานจึงมีหน้าที่กำหนด ดูแล และตรวจตราให้พนักงานมีระเบียบวินัยและทำตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
5. สร้างขวัญและกำลังใจให้พนักงาน
ส่วนหนึ่งของการ “เก่งคน” การเป็นหัวหน้าต้องเก่งคน เพราะเขาจะช่วยเราทำงานได้ตามเป้าหมาย เราเองไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ทั้งกระบวนการ “คน” สิ่งที่เหมือนกันของคน คือความไม่เหมือนกัน หมายความว่า คนเรามีความแตกต่างหลากหลายทั้งด้านความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ยากต่อการคาดเดาได้ สิ่งนี้จะเป็นความท้าทายของหัวหน้างานในการสร้างแรงจูงใจ ขวัญกำลังใจให้เกิดแก่พนักงาน เพื่อให้พนักงานทำงานให้สำเร็จด้วยความเต็มใจ
6. รู้จักการสื่อสารที่ดีกับทุกคนในองค์กร
การสื่อสารและประสานงานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการทำงานร่วมกัน แต่การที่เราจะแสดงน้ำเสียง คำพูด ภาษากายออกมา ต้องคิดก่อนพูดเสมอ เพียงคำพูดคำเดียวที่เรามีอารมณ์ที่ไม่ดีกับคู่สนทนา เราอาจทำงานไม่สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ให้คิดเสมอว่า หากเราไม่ชอบการกระทำเชิงลบแบบใด เราก็อย่าทำ เพราะคนอื่นก็ไม่ชอบเช่นกัน การทำงานต่อวัน ไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมงเราควรพูดดีต่อกัน และอดทนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เขาไม่ได้ตั้งใจ จงคิดให้อภัยอยู่เสมอ ๆ เราจะเป็นหัวหน้างานที่บุคคลรอบข้างเต็มใจช่วยเหลืองาน และการทำงานร่วมกันจะง่ายขึ้น เหนื่อยน้อยลงถ้าพวกเขารักเรา และอยากร่วมงานด้วย
7.มีทัศนคติที่ดีกับองค์กร หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน ลูกน้อง
เรื่องทัศนคติเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราจะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีปัจจัยเรื่องของความคิด และส่งต่อมาเป็นพฤติกรรมของเรา เราต้องมองภาพของสิ่งดี ๆ ในรอบตัวเรา เช่น หากเราถูกตำหนิ ถือว่าเรามีสิ่งที่ต้องปรับปรุง และพัฒนา หากเราคิดบวก เราก็จะพูดบวก หากมีภาพของปัญหาเกิดขึ้นขอให้เราคิดเสมอว่า ปัญหาย่อมทำให้เราเข้มแข็งขึ้น และเราจะมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น